หลักการและเหตุผล
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนและรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้ง ไม่จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาประกอบการในประเทศ ประกอบกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) เพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศต่างๆ โดยสำรวจจากระดับความรู้สึกหรือการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอร์รัปชันในประเทศนั้นๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก
ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้เพื่อให้เกิดความ โปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ
ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดให้มีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง
-
หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง
-
ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการเสนอราคา
-
ผู้สังเกตการณ์ (Observer)
โดยผู้สังเกตการณ์คัดเลือกมาจากสมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการ
เปิดเผยข้อมูลในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ผู้เข้าร่วมการเสนอราคา
ไม่ให้ เสนอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันเป็นประโยชน์ในการเสนอราคา ยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบโครงการได้ในทุกขั้นตอน
ผู้สังเกตการณ์
เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตลอดระยะเวลาและทุกขั้นตอน ในกรณีพบเห็นพฤติกรรม ที่ส่อไปในทางทุจริตให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประโยชน์
-
เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
-
ยกระดับความโปร่งใสของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากจะมีการตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานและ การใช้จ่ายเงินของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจาก ภาคประชาสังคมโดยผ่านผู้สังเกตการณ์และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
-
สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนที่จะเข้าร่วมเสนอราคาในโครงการภาครัฐ ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
-
ส่งผลต่อการจัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของประเทศไทย และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม