CGD Internet
การแสดงผล C C C
ประวัติความเป็นมา
  รูป1            
              
              ใน พ.ศ.๒๔๑๖ (จ.ศ.๑๒๓๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน กำหนดให้มีเจ้าพนักงานบาญชีกลางเพื่อทำหน้าที่จัดบัญชีอากรทั้งปวงบรรดาที่ขึ้นอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒนให้เป็นหลักฐานจะได้ทราบฐานะการเงินของแผ่นดินได้แน่นอน โดยตั้งอยู่ในหอรัษฎาพิพัฒนในพระบรมมหาราชวัง 
 
รูป2 รูป3 รูป4
              
              ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๘ (จ.ศ. ๑๒๓๗) ได้ทรงตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติว่าด้วยกรมต่าง ๆ ซึ่งจะเบิกส่งเงินเหตุผลในการตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมีว่าการภาษีอากรซึ่งเป็นเงินขึ้นสำหรับแผ่นดิน ได้จับจ่ายราชการทนุบำรุงบ้านเมืองและใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัดเงินเดือนข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนนั้นพระคลังมหาสมบัติยังไม่มีอย่างธรรมเนียมรับธรรมเนียมจ่ายเงินให้เรียบร้อยเงินจึงได้ติดค้างเจ้าภาษีนายอากรเป็นอันมากไม่พอจับจ่ายใช้ราชการทนุบารุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นได้จึงทรงพระราชดำริปรึกษาพร้อมด้วยท่านเสนาบดีและเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดตั้งเป็นพระราชบัญญัตินี้ขึ้น หลักการของพระราชบัญญัตินี้คือการจัดระเบียบราชการในกรม พระคลังมหาสมบัติให้มีอธิบดีเป็นประธานและรองอธิบดีช่วยราชการท่านผู้เป็นอธิบดี มีเจ้าพนักงานใหญ่ ๕ นาย คือปลัดอธิบดีนาย ๑ เจ้าพนักงานบาญชีกลางนาย ๑ เจ้าพนักงานบาญชีรับเงินนาย ๑ เจ้าพนักงานบาญชีจ่ายนาย ๑ เจ้าพนักงานเก็บเงินนาย ๑ กับให้มีเจ้าพนักงานเป็นรองเจ้าพนักงานใหญ่อีกนายละ ๑ คนพร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของบรรดา เจ้าพนักงานขึ้นไว้โดยชัดแจ้งนอกจากนั้นยังกำหนดให้มีออดิตอเยเนอราลเป็นเจ้าพนักงานสำหรับตรวจบาญชีและสิ่งของซึ่งเป็นรายขึ้นในแผ่นดินทุก ๆ รายและจัดวางระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อใช้ในกรมพระคลังมหาสมบัติ (กรมพระคลังมหาสมบัติคือ กระทรวงการคลังในปัจจุบัน)
              
              อย่างไรก็ดีการดำเนินงานของกรมพระคลังมหาสมบัติที่ตั้งขึ้นใหม่ ยังมีอุปสรรคและยังไม่เหมาะสมเนื่องจากกิจการบ้านเมืองเจริญก้าวหน้ามากขึ้นและกรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงแล้ว ดังนั้น ในปี ๒๔๓๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) กำหนดให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีหน้าที่สำหรับรับสำหรับจ่ายและรักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวงกับถือบาญชีพระราชทรัพย์สำหรับในกระทรวง สิทธิขาดนับเป็นกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ ๑๓ กรม ดังนี้
 
กรมเจ้ากระทรวง ๕ กรม คือ
๑. กรมพระคลังกลางสำหรับประมาณการรับจ่ายเงินแผ่นดินว่าภาษีอากรและบังคับบัญชาราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทั้งสิ้น
๒. กรมสารบาญชีสาหรับจ่ายเงินแผ่นดิน และถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น
๓. กรมตรวจสำหรับตรวจบาญชี ตรวจราคา ตรวจรายงานการรับจ่ายเงินแผ่นดินและสรรพราชสมบัติการภาษีอากรทั้งสิ้น
๔. กรมเก็บสำหรับรักษาพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น
๕. กรมพระคลังข้างที่สำหรับจัดการเงินในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ๘ กรม
 
แบ่งเป็น ๒ แผนก คือ
แผนกหนึ่ง กรมทำการแผ่นดิน มี ๓ กรมคือ
๑. กรมกระสาปนสิทธิการ สำหรับทำเงินตรา
๒. กรมงานพิมพ์บัตรสำหรับทาเงินกระดาษและตั๋วตรา
๓. กรมราชพัสดุสำหรับจัดการซื้อจ่ายของห้องหลวงและรับจ่ายของส่วย
อีกแผนกหนึ่ง กรมเจ้าจำนวนเก็บเงินภาษีอากร มี ๕ กรม คือ
๑. กรมส่วยสำหรับเร่งเงินค่าราชการตัวเลขและค่าธรรมเนียม
๒. กรมสรรพากรสำหรับเก็บเงินอากรต่าง ๆ
๓. กรมสรรพภาษี สำหรับเก็บเงินภาษีต่างๆ
๔. กรมอากรที่ดิน สำหรับเก็บเงินอากรค่าที่ต่าง ๆ
๕.กรมศุลกากร สำหรับเก็บเงินภาษีขาเข้าขาออก
 
              ซึ่งโดยผลแห่งพระราชบัญญัติพระธรรมนูญฉบับดังกล่าวกรมสารบาญชี หรือกรมบัญชีกลางในปัจจุบัน จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓ ) โดยมีสถานที่ทำการ ณ ตึกหอรัษฏากรพิพัฒนภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจหน้าที่กรมต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทั้ง ๑๓ กรมไว้โดยละเอียดสำหรับกรมสารบาญชีนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจหน้าที่และแบ่งส่วนราชการ ดังนี้
              "กรมสารบาญชีมีหน้าที่รับจ่ายเงินตามรายประมาณและทำบาญชีรักษาพระราชทรัพย์แลสารบาญชีหน้าหลวงใบนาเบิกทั้งสิ้นมีอธิบดีรับผิดชอบในกรมสารบาญชีทั่วไป ๑ รองอธิบดีสาหรับช่วยการในอธิบดี ๑ มีนายเวร ๔ คือ
๑. เวรรับ สำหรับรับเงิน ฤาราชสมบัติทั้งปวงและทำบาญชีรายรับ
๒. เวรจ่าย สำหรับจ่ายเงิน ฤาราชสมบัติทั้งปวงและทำบาญชีรายจ่าย
๓. เวรแบงค์ สำหรับทำบาญชีเงินรับจ่ายในนานาประเทศแลเป็นธุระการแลกเปลี่ยน หรือเงินฝากแบงค์
๔. เวรบาญชีสำหรับรักษาบาญชีพระราชทรัพย์ บาญชีรายงบประมาณบาญชีหนี้หลวง และใบเบิก
ใบนาใบเสร็จ ตั้งเร่งหนี้หลวงมีเจ้าพนักงานผู้ช่วย เสมียนเอก เสมียนโท เสมียนสามัญ พอสมควรแก่ราชการ"
              
              และได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้พระยานรนารถภักดีศรีรัษฏากร (เอม ณ มหาชัย) เป็นอธิบดีกรมสารบาญชีคนแรกและ โปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช เป็นรองอธิบดีกับทรงแต่งตั้งให้มิสเตอร์ แอล.เอ็ม.เอ็ม.ครอส (Mr.L.M.M.Cross) เป็นผู้ช่วยอธิบดีที่ปรึกษากับการบัญชีทั้งปวง และใน ปี พ.ศ.๒๔๓๓ นั้นเองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติกรมสารบาญขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓)กำหนดหน้าที่ และแบ่งส่วนราชการกรมสารบาญชีออกเป็น ๓ กอง คือ กองบาญชีกลาง กองรับและกองจ่ายกับนายเวร ๔ คือ เวรรับ เวรจ่าย เวรเกณฑ์ (เดิมเรียกว่าเวรแบงค์) และเวรบาญชี 
 
รูป5
 
              ครั้นมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับกรมสารบาญชี ดังนี้คือในเวลานั้นเงินรายได้รายจ่ายของแผ่นดินมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับจำเป็นจะต้องตรวจตราการรับจ่ายและเงินรักษาเงินให้รัดกุมยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะสำหรับปฏิบัติการไม่ก้าวก่ายกันดังที่เป็นอยู่แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินขึ้นในกระทรวง พระคลังมหาสมบัติสำหรับทำหน้าที่ตรวจหน่วยราชการที่รับหรือเบิกจ่าย หรือรักษาเงินแผ่นดินและเงินอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และเพื่อมิให้หน้าที่ของกรมที่ตั้งขึ้นใหม่ปะปนกับหน้าที่ของกรมเดิมจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้รวมกรมตรวจกับกรมสารบาญชีตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) เปลี่ยนชื่อเป็น"กรมบาญชีกลาง" เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๕๘ อันถือเป็นวันที่ได้มีการสถาปนากรมบัญชีกลางขึ้นเป็นครั้งแรก
 
รูป6
 
              ในปี พ.ศ. 2476 มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงการคลังขึ้นใหม่โดยประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2476 แบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลางเป็นราชการบริหารส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคในส่วนภูมิภาคนั้นได้กำหนดให้มี “คลังจังหวัด (Changwad Treasuries)” ขึ้นเป็นครั้งแรก (ยกเว้นจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี) สำนักงานคลังจังหวัดเป็นส่วนราชการส่วนภูมิภาคสังกัดกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังมีสัญลักษณ์ เป็นรูปนกวายุภักษ์
 
จำนวนผู้เข้าชม วันนี้ 27 คน
(จากผู้เข้าชมทั้งหมด 386,697 คน)