CGD Internet
การแสดงผล C C C
ประวัติความเป็นมา
ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ (จ.ศ.๑๒๓๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตราพระราชบัญญัติ สำหรับ หอรัษฎากรพิพัฒน กำหนดให้มีเจ้าพนักงานบาญชีกลาง เพื่อทำหน้าที่จัดบัญชีอากรทั้งปวงบรรดาที่ขึ้นอยู่ ในหอรัษฎากรพิพัฒนให้เป็นหลักฐาน จะได้ทราบฐานะการเงินของแผ่นดินได้แน่นอน โดยตั้งอยู่ในหอรัษฎาพิพัฒนใน พระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๘ (จ.ศ.๑๒๓๗) ได้ทรงตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติว่าด้วยกรมต่าง ๆ ซึ่งจะเบิกเงินส่งเงิน เหตุผลในการตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมีว่า การภาษีอากรซึ่งเป็นเงินขึ้นสำหรับแผ่นดินได้จับจ่ายราชการ ทะนุบำรุงบ้านเมือง และใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัดเงินเดือนข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนนั้น พระคลังมหาสมบัติยังไม่มีอย่างธรรมเนียมรับธรรมเนียมจ่ายเงินให้เรียบร้อย เงินจึงได้ติดค้างเจ้าภาษีนายอากรเป็นอันมาก ไม่พอจับจ่ายใช้ราชการทะนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นได้ จึงทรงพระราชดำริปรึกษาพร้อมด้วยท่านเสนาบดีและเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดตั้งเป็นพระราชบัญญัตินี้ขึ้น หลักการของพระราชบัญญัตินี้คือ การจัดระเบียบราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติให้มีอธิบดีเป็นประธาน และรองอธิบดีช่วยราชการท่านผู้เป็นอธิบดี มีเจ้าพนักงานใหญ่ ๕ นาย คือ ปลัดอธิบดี-นาย ๑ เจ้าพนักงานบาญชีกลางนาย ๑ เจ้าพนักงานบาญชีรับเงินนาย ๑ เจ้าพนักงานบาญชีจ่ายนาย ๑ เจ้าพนักงานเก็บเงินนาย ๑ กับให้มีเจ้าพนักงานเป็นรองเจ้าพนักงานใหญ่อีกนายละ ๑ คน พร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของบรรดาเจ้าพนักงานขึ้นไว้โดยชัดแจ้ง นอกจากนั้นยังกำหนดให้มีออดิตอเยเนอราล เป็นเจ้าพนักงานสำหรับตรวจบาญชีและสิ่งของซึ่งเป็นรายขึ้นในแผ่นดินทุก ๆ ราย และจัดวางระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อใช้ในกรมพระคลังมหาสมบัติ (กรมพระคลังมหาสมบัติ คือ กระทรวงการคลังในปัจจุบัน) อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของกรมพระคลังมหาสมบัติที่ตั้งขึ้นใหม่ ยังมีอุปสรรคและยังไม่เหมาะสม เนื่องจากกิจการบ้านเมืองเจริญก้าวหน้ามากขึ้นและกรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงแล้ว ดังนั้นในปี ๒๔๓๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) กำหนดให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีหน้าที่สำหรับรับ สำหรับจ่ายและรักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวงกับถือบาญชีพระราชทรัพย์สำหรับในกระทรวงสิทธิขาด นับเป็นกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ ๑๓ กรม ดังนี้ กรมเจ้ากระทรวง ๕ กรม คือ ๑. กรมพระคลังกลาง สำหรับประมาณการรับจ่ายเงินแผ่นดินว่าภาษีอากร และบังคับบัญชาราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทั้งสิ้น ๒. กรมสารบาญชี สำหรับจ่ายเงินแผ่นดิน และถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น ๓. กรมตรวจ สำหรับตรวจบาญชี ตรวจราคา ตรวจรายงานการรับจ่ายเงินแผ่นดิน และสรรพราชสมบัติการภาษีอากรทั้งสิ้น ๔. กรมเก็บ สำหรับรักษาพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น ๕. กรมพระคลังข้างที่ สำหรับจัดการเงินในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสิ้น ๘ กรม แบ่งเป็น ๒ แผนก คือ แผนกหนึ่ง กรมทำการแผ่นดิน มี ๓ กรม คือ ๑. กรมกระสาปนสิทธิการ สำหรับทำเงินตรา ๒. กรมงานพิมพ์บัตร สำหรับทำเงินกระดาษและตั๋วตรา ๓. กรมราชพัสดุ สำหรับจัดการซื้อจ่ายของห้องหลวงและรับจ่ายของส่วย อีกแผนกหนึ่ง กรมเจ้าจำนวน เก็บเงินภาษีอากร มี ๕ กรม คือ ๑. กรมส่วย สำหรับเร่งเงินค่าราชการตัวเลขและค่าธรรมเนียม ๒. กรมสรรพากร สำหรับเก็บเงินอากรต่าง ๆ ๓. กรมสรรพภาษี สำหรับเก็บเงินภาษีต่าง ๆ ๔. กรมอากรที่ดิน สำหรับเก็บเงินอากรค่าที่ต่าง ๆ ๕. กรมศุลกากร สำหรับเก็บเงินภาษีขาเข้าขาออก ซึ่งโดยผลแห่งพระราชบัญญัติพระธรรมนูญฉบับดังกล่าว กรมสารบาญชี หรือกรมบัญชีกลางในปัจจุบัน จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) โดยมีสถานที่ทำการ ณ ตึกหอ-รัษฏากรพิพัฒน ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจหน้าที่กรมต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทั้ง ๑๓ กรม ไว้โดยละเอียด สำหรับกรมสารบาญชีนั้น พระราช-บัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจหน้าที่และแบ่งส่วนราชการ ดังนี้ "กรมสารบาญชี มีหน้าที่รับจ่ายเงินตามรายประมาณ และทำบาญชีรักษาพระราชทรัพย์แลสารบาญชีหน้าหลวงใบนำเบิกทั้งสิ้น มีอธิบดีรับผิดชอบในกรมสารบาญชีทั่วไป ๑ รองอธิบดีสำหรับช่วยการในอธิบดี ๑ มีนายเวร ๔ คือ ๑. เวรรับ สำหรับรับเงิน ฤาราชสมบัติทั้งปวง และทำบาญชีรายรับ ๒. เวรจ่าย สำหรับจ่ายเงิน ฤาราชสมบัติทั้งปวง และทำบาญชีรายจ่าย ๓. เวรแบงค์ สำหรับทำบาญชีเงินรับจ่ายในนานาประเทศ แลเป็นธุระการแลกเปลี่ยน หรือเงินฝากแบงค์ ๔. เวรบาญชี สำหรับรักษาบาญชีพระราชทรัพย์ บาญชีรายงบประมาณบาญชีหนี้หลวง แลใบเบิก ใบนำใบเสร็จ ตั้งเร่งหนี้หลวง มีเจ้าพนักงานผู้ช่วย เสมียนเอก เสมียนโท เสมียนสามัญ พอสมควรแก่ราชการ" และได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยานรนารถภักดีศรีรัษฏากร (เอม ณ มหาชัย) เป็นอธิบดีกรมสารบาญชีคนแรก และโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช เป็นรองอธิบดี กับทรงแต่งตั้งให้มิสเตอร์ แอล.เอ็ม.เอ็ม.ครอส (Mr.L.M.M.Cross) เป็นผู้ช่วยอธิบดีที่ปรึกษากับการบัญชีทั้งปวง และในปี พ.ศ.๒๔๓๓ นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติกรมสารบาญขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) กำหนดหน้าที่ และแบ่งส่วนราชการกรมสารบาญชีออกเป็น ๓ กอง คือ กองบาญชีกลาง กองรับและกองจ่ายกับนายเวร ๔ คือ เวรรับ เวรจ่าย เวรเกณฑ์ (เดิมเรียกว่า เวรแบงค์) และเวรบาญชี ครั้นมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับกรมสารบาญชี ดังนี้คือ ในเวลานั้นเงินรายได้รายจ่ายของแผ่นดินมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ จำเป็นจะต้องตรวจตราการรับจ่ายและเงินรักษาเงินให้รัดกุมยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะสำหรับปฏิบัติการไม่ก้าวก่ายกันดังที่เป็นอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สำหรับทำหน้าที่ตรวจหน่วยราชการที่รับหรือเบิกจ่าย หรือรักษาเงินแผ่นดิน และเงินอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และเพื่อมิให้หน้าที่ของกรมที่ตั้งขึ้นใหม่ปะปนกับหน้าที่ของกรมเดิม จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตรวจกับกรมสารบาญชี ตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมบาญชีกลาง" เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๕๘ อันถือเป็นวันที่ได้มีการสถาปนากรมบัญชีกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้มีการกระจายความรับผิดชอบไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดยมีการแต่งตั้งสำนักงานคลังจังหวัด และสำนักงานคลังอำเภอ ตั้งแต่เมื่อใดไม่มีเอกสารปรากฏ แต่มีหลักฐานบางจังหวัดมีการแต่งตั้งคลังจังหวัด ในวันที่ 1 พ.ย. 2482 ต่อมา เพื่อให้สำนักงานคลังอำเภอมีฐานะเทียบเท่าสำนักงานคลังจังหวัดจึงได้เปลี่ยนชื่อ สำนักงานคลังอำเภอเป็นสำนักงานคลังจังหวัด ณ อำเภอ..... และในปี พ.ศ. 2550 กรมบัญชีกลางได้ยุบสำนักงานคลังจังหวัด ณ อำเภอ ..... เหลือเพียงสำนักงานคลังจังหวัด จำนวน 75 จังหวัด
จำนวนผู้เข้าชม วันนี้ 51 คน
(จากผู้เข้าชมทั้งหมด 186,906 คน)