CGD Internet
การแสดงผล C C C
ประวัติความเป็นมา
           
                กรมบัญชีกลาง สังกัดกระทรวงการคลัง ปัจจุบันมีอายุ ๑๒๔ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญ หน้าที่ราชการในกระทรวงการคลังมหาสมบัติ ให้มีกรมสารบาญชี  เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) สำหรับจ่ายเงินแผ่นดินและถือเป็นสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสานักงานและกรมในกระทรวงการคลังขึ้นใหม่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๗๖ มีการแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง เป็นราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค สำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคนั้น กำหนดให้มีคลังจังหวัดขึ้น ดังนั้น คลังจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยจึงมีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๖ เป็นต้นมา
            ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในกรมบัญชีกลางใหม่ ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๕ สำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาค กำหนดให้มีคลังภาคขึ้น โดยให้คลังภาคมีหน้าที่ตรวจตรา ชี้แจง แสดงความเห็น สั่งกระทำและปฏิบัติราชการตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผน คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลัง มีหน้าที่บังคับบัญชาคลังจังหวัด และคลังอำเภอภายในภาค เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ว่าราชการภาค ในการปฏิบัติควบคุมราชการอันเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางในภาคนั้น ๆ  โดยมีสำนักงานคลังภาคตั้งอยู่ ณ จังหวัดต่าง ๆ
 

                  สำนักงานคลังจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหน่วยงานสังกัดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ถนนประชานิมิตร ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยหลวงนรินทร์สมบัติ เป็นคลังจังหวัดอุตรดิตถ์คนแรก ปัจจุบันนางสุชญา การงาน ดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดอุตรดิตถ์ ลำดับที่ 26 มีบุคลากรจำนวน 22 คน เป็นข้าราชการ จำนวน 15 คน พนักงานราชการ จำนวน  3 คน ลูกจ้างชั่วคราว 1 คน ลูกจ้างอัตราจ้างเหมา 3 คน 

                  สำนักงานคลังจังหวัดมีลักษณะการบริหารราชการแบบส่วนภูมิภาคภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด มีบทบาทภารกิจหน้าที่สำคัญคือให้บริการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณแก่หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด เพื่อให้หน่วยเบิกจ่ายเงินนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศและความอยู่ดีกินดีของประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งก่อให้เกิดการใช้จ่าย การจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับ ประชาชน ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง นอกจากหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญอีกด้าน คือการให้ความช่วยเหลือในทางปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การจัดทำบัญชี การตรวจสอบภายใน เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักกฎหมายระเบียบวิธีปฏิบัติ มิก่อให้เกิดความ เสียหายต่อราชการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหน่วยงานภาครัฐ

 
จำนวนผู้เข้าชม วันนี้ 335 คน
(จากผู้เข้าชมทั้งหมด 560,645 คน)