CGD Internet
การแสดงผล C C C
ประวัติความเป็นมา
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งกรมต่างๆขึ้นรับผิดชอบบริหารราชการรวม ๑๒ กรม แทนการปกครองแบบจตุสดมภ์ ซึ่งเคยใช้มาแต่โบราณ โดยมีกรมพระคลังมหาสมบัติเป็นกรม ๑ ใน ๑๒ กรม พร้อมกับโปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติสำหรับกรมพระคลัง มหาสมบัติแลว่าด้วยกรมต่างๆ ซึ่งจะเบิกเงินส่งเงิน” เพื่อรับผิดชอบว่าการบรรดาภาษีอากร และเงินที่จะรับจะจ่ายในแผ่นดินทั้งสิ้น และบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของปลัดบาญชีกลาง ในหมดมาตราที่ ๓ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับเป็นพนักงานที่จะว่าภาษีอากรและรักษาสมุดบัญชีเงินของแผ่นดิน
            ปี พ.ศ.๒๔๓๓ กรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกฐานะเป็นกระทรวงตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน กิจการบ้านเมืองในระยนั้นก็เจริญก้าวหน้ามากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) กำหนดให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีหน้าที่สำหรับรับ สำหรับจ่าย และรักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพราชสมบัติ พัสดุทั้งปวงกับถือบัญชีพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักรีเสนาบดีรับผิดชอบบังคับราชการในกระทรวงสิทธิขาด นับเป็นกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ ๑๓ กรม
            กรมสารบาญชี เป็นกรมเจ้ากระทรวงกรมหนึ่ง มีหน้าที่สำหรับจ่ายเงินแผ่นดินและถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น โดยผลแห่งพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๓๓ จึงนับเป็นวันก่อตั้งกรม และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระราชบัญญัติพระธรรมนูญกำหนดหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติกำหนดหน้าที่และแบ่งส่วนราชการในกรมสารบัญชีไว้กว้างๆ มิได้แยกออกเป็นกองให้เป็นสัดส่วนเพียงพอกับประมาณงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติกรมสารบาญชีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๓) กำหนดหน้าที่และแบ่งกรมสารบาญชีออกเป็น ๓ กอง คือ กองบาญชีกลาง กองรับ และกองจ่าย กับที่นายเวร ๔ คือ เวรรับ เวรจ่าย เวรเกณฑ์ และเวรบาญชี
            ปี พ.ศ.๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ได้กำหนดหน้าที่ใหม่และให้ชื่อกรมบาญชีกลาง เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๘ จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบรัฐธรรมนูญคณะกรรมการราษฎรจึงปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ และประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ระบุนามกรมบาญชีกลางเป็น “กรมบัญชีกลาง” ตั้งแต่บัดนั้น
            จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง คณะกรรมการราษฎร ได้ปรับปรุงงานของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆใหม่ สำหรับงานในหน้าที่ของบัญชีกลางนั้น มีพระราชกฤษฎีกาการจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงการคลัง เปลี่ยนชื่อเป็นกรมบัญชีกลาง แบ่งส่วนราชการของกรมเป็นราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รับผิดชอบตรวจควบคุมการรับจ่ายเงินของส่วนราชการต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยแบ่งราชกการบริหารส่วนกลางออกเป็น ๔ กอง คือ กองกลาง กองเงินเดือน กองค่าใช้สอย และกองประมวลบัญชี เพื่อรับผิดชอบงานหลักของกรมที่เหลืออยู่ในขณะนั้น คือ การควบคุมงบประมาณ การตรวจจ่ายเงินประเภทต่างๆ รวมทั้งควบคุมการรับเงินรายได้แผ่นดิน การทำบัญชีและรายงาน ตลอดจนการให้บริการด้านแนะนำและวางรูปบัญชีแก่ส่วนราชการ
            สำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคตั้งคลังจังหวัดรับผิดชอบควบคุมการรับและจ่ายเงิน ตลอดจนทำบัญชีและรายงาต่างๆเสนอกรม และในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้เปลี่ยนชื่อคลังจังหวัดเป็น “สำนักงานคลังจังหวัด”
 
จำนวนผู้เข้าชม วันนี้ 24 คน
(จากผู้เข้าชมทั้งหมด 240,262 คน)