CGD Internet
การแสดงผล C C C
ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของ "สำนักงานคลังจังหวัดนนทบุรี"
 
     ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติสำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติแลว่าด้วยกรมต่าง ๆ" ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 แรม 12 ค่ำ พ.ศ. 2418 ในการนี้ ได้แยกกรมท่าออกจากกรมพระคลังและตั้งสำนักงานสำหรับงานการคลัง ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์
     เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ.109 (พ.ศ. 2433) ได้มีการตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กำหนดให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีหน้าที่จ่ายรักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบัญชีพระราชทรัพย์ รับผิดชอบสำหรับแผ่นดินทั้งสิ้นและเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดิน โดยแบ่งงานออกเป็น 13 กรม เพื่อให้เป็นระบบระเบียบตามแบบสากลและแบ่งกรมตามภารกิจงานที่แตกต่างกันออกไป อย่างชัดเจน ประกอบด้วย
     “กรมเจ้ากระทรวง" 5 กรม ได้แก่ กรมพระคลังกลาง กรมสารบาญชี กรมตรวจ กรมเก็บ และกรมพระคลังข้างที่ และตั้งสำนักงานสำหรับงานการคลัง ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์
     “กรมขึ้น" 8 กรม แบ่งเป็น กรมเจ้าจำนวนเก็บภาษีอากร 5 กรม ได้แก่ กรมส่วย กรมสรรพากร กรมสรรพภาษี กรมที่ดิน และกรมศุลกากร และกรมทำการแผ่นดิน 3 กรม ได้แก่ กรมกระสาปนสิทธิการ กรมงานพิมพ์บัตร และกรมราชพัสดุ และตั้งสำนักงานสำหรับงานการคลัง ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์
 
     “กรมสารบาญชี" หรือ กรมบัญชีกลางในปัจจุบันจึงถือกำเนิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 มีหน้าที่ สำหรับรับจ่ายเงินแผ่นดินและถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งหมด โดยมีอธิบดีรับผิดชอบการทั้งปวง มีรองอธิบดีสำหรับช่วยการแทน และมีนายเวร 4 นาย คือ เวรรับ เวรจ่าย เวรแบงก์ และเวรบาญชี โดยแต่ละนายเวรมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
     1. เวรรับ สำหรับรับเงิน หรือราชสมบัติทั้งปวง และทำบาญชีรายรับ
     2. เวรจ่าย สำหรับจ่ายเงิน หรือราชสมบัติทั้งปวง และทำบาญชีรายจ่าย
     3. เวรแบงก์ สำหรับทำบาญชีเงินรับจ่ายในนานาประเทศ และเป็นธุรการแลกเปลี่ยน หรือฝากเงินแบงก์
     4. เวรบาญชี สำหรับรักษาบาญชีพระราชทรัพย์ บาญชีรายงบประมาณ บาญชีหนี้หลวง และใบเบิก ใบนำ ใบเสร็จ ทั้งเร่งหนี้หลวง
 
     โดยได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณ มหาชัย) เป็นอธิบดีกรมสารบาญชีคนแรก และ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช เป็นรองอธิบดี กับทรงแต่งตั้งให้มิสเตอร์ แอล.เอ็ม.เอ็ม.ครอส (Mr.L.M.M.Cross) เป็นผู้ช่วยอธิบดีที่ปรึกษากับการบัญชีทั้งปวง
     ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติกรมสารบาญชีขึ้น  โดยแบ่งเป็น 3 กอง ประกอบด้วย กองบาญชีกลาง กองรับ และกองจ่าย กับหน้าที่ 4  นายเวร คือ เวรรับ เวรจ่าย เวรเกณฑ์ (เวรแบงก์เดิม) และเวรบาญชี  เพื่อกำหนดหน้าที่ภายในกรมให้เป็นสัดส่วน  ชัดเจนและเหมาะสมขึ้น
     ครั้นถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2458  โดยให้รวม “กรมตรวจ"  และ “กรมสารบาญชี" เข้าด้วยกัน  และ เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมบาญชีกลาง" เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2458 ในคราวนี้ทำให้กรมบาญชีกลางมีภารกิจหนักขึ้น  โดยเป็นทั้งผู้รวบรวมประมวลบัญชีเงินรายได้และรายจ่ายของแผ่นดิน วางรูปและแนะนำการบัญชีแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำการเบิกจ่าย เก็บเงินผลประโยชน์ รักษาเงินแผ่นดิน สอบสวน การเบิกจ่ายในราชการแผ่นดิน รวมถึงการสอบสวนและตักเตือนเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่ทำการเก็บเงินผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดินนำส่งพระคลัง
     เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.2476 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงพระคลัง ได้เปลี่ยนชื่อ กรมบาญชีกลาง เป็น “กรมบัญชีกลาง" เพื่อสะท้อนภาระงานให้ชัดเจน
 
     ในปี พ.ศ.2476 มีการออกพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงการคลังขึ้นใหม่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2476 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกรมบัญชีกลางคือ การขยายขอบเขตงาน "ส่วนภูมิภาค" โดยตั้ง "คลังจังหวัด" ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อควบคุมการับจ่ายเงินทั่วแผ่นดินสนองความจำเป็นในการบริหารการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่สูงขึ้นของรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานที่มีความทันสมัยและให้บริการประชาชนด้วยมาตรฐานในระดับเดียวกันกับองค์กรภาคเอกชนชั้นนำระดับประเทศภายใต้กรอบแนวทางการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ของการบริหารจัดการองค์กรของกระทรวงการคลังเพื่อนำไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม จึงได้ยุติบทบาทในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และได้ถ่ายโอนภาระกิจด้านเหรียญกษาปณ์คืนให้แก่กรมธนารักษ์แล้ว ทำให้ไม่มีเงินคงคลังที่เป็นธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เก็บรักษาไว้ในห้องมั่นคงอีกต่อไป
     ที่ทำการคลังจังหวัดนนทบุรีหรือสำนักงานคลังจังหวัดนนทบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ท่าน้ำนนทบุรี ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ได้ย้ายไปปฏิบัติงาน ณ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี อาคาร 3 ชั้น (ชั้น1) ถนนรัตนางธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี อาคาร 5 ชั้น (ชั้น1) ด้านหลัง ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และใช้เป็นที่ทำการมาจนถึงทุกวันนี้
 
             
 
 

 

 
จำนวนผู้เข้าชม วันนี้ 81 คน
(จากผู้เข้าชมทั้งหมด 951,596 คน)